ประวัติ ของ เรือหลวงช้าง (LPD-792)

เรือหลวงช้าง ต่อขึ้นภายใต้โครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือระยะ 20 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2560 - 2579 ซึ่งระบุความต้องการในส่วนของเรืออเนกประสงค์สำหรับยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่จำนวน 4 ลำ เพื่อทดแทนเรือเดิมที่ปลดประจำการไป คือเรือหลวงช้าง ลำที่ 2 (LST-712) สำหรับปฏิบัติการสนับสนุนการทำงานของการยกพลขึ้นบกของกำลังทางเรือและนาวิกโยธิน[4] โดยชื่อเรือหลวงช้าง (ลำที่ 3 คือลำปัจจุบัน) ได้รับการพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามชื่อของเกาะช้าง ในจังหวัดตราด[5]

กองทัพเรือไทยและทางการจีนได้ลงนามในสัญญาเพื่อต่อเรือหลวงช้าง เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562[6] ซึ่งถือเป็นการผลิตและส่งออกเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LPD) ครั้งแรกของจีน[7] และถูกปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.19 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) โดย นางอรัญญา ศิริสวัสดิ์ ภรรยาของ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นสุภาพสตรีดำเนินการปล่อยเรือตามธรรมเนียมชาวเรือ ณ ท่าเรือหมายเลข 5 อู่ต่อเรือหู้ดง-จงหัวชิปบิลดิง เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน[8]

ระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 กองทัพเรือได้ส่งกำลังพลประจำเรือชุดแรกเพื่อไปฝึกและศึกษาระบบต่าง ๆ ในการดูแลเรือ ทั้งระบบเครื่องจักร ระบบอู่ลอย ระบบเครื่องจักช่วย และระบบด้านช่างกล ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสัญญาบัตรและกำลังพลส่วนของงานช่าง ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 4 - 5 เดือน ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้ส่งกำลังพลชุดที่สองไปเพื่อฝึกฝนในส่วนของการเดินเรือ ระบบอาวุธ ระบบการสื่อสาร ด้านพลาธิการ การปฏิบัติการระวางบรรทุก การปฏิบัติงานของอู่ลอย การจมเรือเพื่อลดระดับ การใช้เครื่องมือไฮโดรลิคเกี่ยวกับระบบลิฟต์ การขนย้ายยานยนต์ระบบ Roll-on Roll-off การใช้งานแรมพ์ข้าง และแรมพ์ท้าย การปฏิบัติการของโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ การเติมน้ำมันให้กับอากาศยาน และการใช้อุปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำ และกำลังพลชุดสุดท้าย คือพลทหาร และแพทย์ทหารประจำเรือ เดินทางไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเรือ[3]

เรือหลวงช้าง ทำพิธีส่งเรือจากท่าเรือในประเทศจีนมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมคณะและคณะกรรมการตรวจรับเข้าร่วมในพิธี[9] ซึ่งเรือหลวงช้าง เดินทางมาจากประเทศจีนเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีเรือหลวงนราธิวาส จากทัพเรือภาคที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เป็นเรือในหน่วยเรือคุ้มกัน คุ้มกันตั้งแต่บริเวณจุดบรรจบน่านน้ำจีนและเวียดนามเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566[10] ผ่านน่านน้ำสากล เข้ามาสู่น่านน้ำทางทะเลของไทย และส่งมอบการคุ้มกันให้กับหน่วยเรือในทัพเรือภาคที่ 1 คุ้มกันไปจนถึงฐานทัพเรือสัตหีบ[5]

เรือหลวงช้าง เข้าประจำการเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีต้อนรับเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนายทหารระดับสูงและญาติพี่น้องของกำลังพลของเรือซึ่งเดินทางกลับมาพร้อมกับเรือหลังจากเดินทางไปรับการฝึกที่ประเทศจีน[11]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เรือหลวงช้าง (LPD-792) https://www.bbc.com/thai/articles/cn0j44qp34no https://www.bbc.com/thai/thailand-62092623 https://www.marinetraffic.com/ais/details/ships/mm... https://www.marinetraffic.com/en/ais/details/ships... https://mgronline.com/indochina/detail/95600001042... https://mgronline.com/politics/detail/966000003830... https://www.posttoday.com/lifestyle/693627 https://www.posttoday.com/lifestyle/693632 https://thaiarmedforce.com/2021/12/23/chinese-inte... https://today.line.me/th/v2/article/PGXzBRR